preloader
  • Home
  • รายละเอียดของประชุม

การประชุมสัมมนาวิชาการในเรื่อง ‘Digital and Sustainable Innovations for Uncertain Post-pandemic Times’ วันที่ 15-16 มิถุนายน พ.ศ. 2566

หลักการและเหตุผล

สถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนระดับบัณฑิตศึกษา สาขาการวิจัย การวัดและประเมินทางการศึกษาของประเทศไทย ได้มีการจัดงานประชุมสัมมนา เพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความคิดเห็นและประสบการณ์ระหว่างคณาจารย์ นิสิตนักศึกษา และได้ดำเนินการจัดการประชุมสัมมนาหมุนเวียนเปลี่ยนกันไปในแต่ละสถาบันต่อเนื่องกันมารวม 29 ครั้งแล้ว ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 50 สถาบัน จากมติที่ประชุมคณาจารย์มหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ได้มอบให้ภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพจัดงานการประชุมสัมมนาการวัดผล ประเมินผล และวิจัยสัมพันธ์แห่งประเทศไทยครั้งที่ 30 ระหว่างวันที่ 15 – 16 มิถุนายน พ.ศ. 2566 ในฐานะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดีของการยกระดับเป็นการประชุมนานาชาติ เรื่อง Digital and Sustainable Innovations for Uncertain Post-pandemic Times

การจัดประชุมสัมมนาวิชาการ การวัดผล ประเมินผล และวิจัยสัมพันธ์แห่งประเทศไทยในอดีตเป็นการจัดประชุมในสถานที่จริง และในปีที่ผ่านมามีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดประชุมเป็นออนไลน์ผ่าน Zoom Platform ด้วยข้อจำกัดของการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในปัจจุบันที่ยังมีการแพร่ระบาดยังต่อเนื่อง และข้อจำกัดของ Zoom Platform หรือ Application การประชุมออนไลน์อื่น ๆ ที่มีลักษณะเป็นการสื่อสารทางเดียว ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่จะมีโอกาสในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ น้อย ในการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมครั้งนี้ภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษาได้นำประสบการณ์ของการเป็นเจ้าภาพฯ ของสถาบันอื่น ๆ มาวิเคราะห์และมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการเผยแพร่มุมมองใหม่ของการจัดการประชุมออนไลน์ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นมิติใหม่ของการจัดประชุมวิชาการทางการศึกษา โดยรูปแบบที่จะใช้ในการประชุมได้แก่ การจัดประชุมในลักษณะ 2D Metaverse ผ่าน Zep Metaverse Platform ที่จะเป็นการสร้างโลกเสมือนจริงและผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนจะมีตัวละคร (Avatar) ที่เปรียบเสมือนเป็นตัวตนของตนเอง และสามารถใช้ตัวละครนั้นในการเข้าร่วมประชุม ทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้เข้าร่วมประชุมบุคคลอื่น ๆ ได้เสมือนกับอยู่ในที่ประชุมสถานที่จริง

กิจกรรมของการจัดการประชุมสัมมนาที่สำคัญประกอบด้วย การบรรยายทางวิชาการของ วิทยากรหลัก (keynote speakers) ในประเด็นเกี่ยวกับแนวคิดสมัยใหม่ในการพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา ผ่านแง่มุมการวิจัยทางสังคมศาสตร์ และวิทยาการข้อมูลทางการศึกษา โดยวิทยากรหลักประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในระดับนานาชาติ จากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับสากล และผู้ทรงคุณวุฒิระดับชาติที่มาจากหลากหลายสถาบันในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมทางวิชาการอื่นๆ ได้แก่ การอบรมกึ่งปฏิบัติการในประเด็นสมัยใหม่ทางวิธีวิทยาการวิจัย การวัดและประเมินผล สถิติและวิทยาการข้อมูลการศึกษา จิตวิทยาการศึกษา และการศึกษาพิเศษ รวมทั้งยังมีการนำเสนอผลงานวิจัยคัดสรรทั้งภาคบรรยายและภาคโปสเตอร์ กิจกรรมคลินิกวิจัย กิจกรรมนิทรรศการเผยแพร่หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมถึงนิทรรศการเผยแพร่องค์ความรู้/แหล่งเรียนรู้สำคัญของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังมีกิจกรรมเสริมความรู้ สร้างปฏิสัมพันธ์ในการเข้าร่วมประชุม และการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างนักวิชาการ คณาจารย์ และนิสิต นักศึกษาของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยที่เข้าร่วมงานผ่านการประชุมในโลกเสมือนจริงอีกด้วย

วัตถุประสงค์

การประชุมสัมมนาวิชาการ การวัด ประเมินผล และการวิจัยสัมพันธ์แห่งประเทศไทยครั้งที่ 30 เรื่อง “Digital and Sustainable Innovations for Uncertain Post-pandemic Times” มีวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานดังนี้

1.เพื่อจัดประชุมสัมมนาวิชาการระดับชาติในด้านการวิจัย การวัด การประเมิน สถิติ และจิตวิทยาการศึกษา

2.เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้เพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในด้านวิธีวิทยาการวิจัย การวัดและประเมินผล สถิติและวิทยาการข้อมูล จิตวิทยาการศึกษา และการศึกษาพิเศษ

3.เพื่อเผยแพร่ความรู้ ความก้าวหน้าและวิทยาการใหม่ๆ ด้านวิธีวิทยาการวิจัย การวัดและประเมินผล สถิติและวิทยาการข้อมูล จิตวิทยาการศึกษา และการศึกษาพิเศษ

4.เพื่อส่งเสริมให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีและเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างอาจารย์ นิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศเพื่อการพัฒนาศาสตร์ด้านวิธีวิทยาการวิจัย การวัดและประเมินผล สถิติและวิทยาการข้อมูล จิตวิทยาการศึกษา และการศึกษาพิเศษ

5.เพื่อนำเสนอทิศทางใหม่ของการจัดประชุมวิชาการทางการศึกษาในรูปแบบออนไลน์ผ่านรูปแบบ 2D Metaverse ให้กับวงการการศึกษาของประเทศไทย

ผู้รับผิดชอบโครงการ

ภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย